คาวมรุนแรงในครอบครัว

การปรากฎเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ” ฆ่าเมียพ้นคุก สั่งรอลงอาญา ชี้ ดร.พิพัฒน์ ทำเพราะโทสะ (หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับที่ 278 วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2545) และ ดร.ฆ่าเมีย ให้รอลงอาญา 3 ปี สอนเด็กอีก 50 ชม.” (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่ 16251 วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2545) สร้างความแปลกใจให้กับผู้อ่านและผู้ที่ติดตามข่าวนี้มากที่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เรื่องทะเลาะวิวาทระหว่างสามีภรรยามีสาเหตุมาจากความรู้สึกส่วนตัวของจำเลยเอง กระทำความผิดเพราะอารมณ์โทสะที่เกิดขึ้นชั่วขณะทำร้ายภรรยาบาดเจ็บตามร่างกายหลายแห่งจนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามผลจากการตัดสินของศาลต่อไป กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นได้ในทุกสังคม Murray A. Straus (1977) ได้ศึกษาต่างวัฒนธรรมเรื่องการทะเลาะวิวาทระหว่างสามีภรรยา พบสาเหตุที่เป็นปัจจัยรุนแรงนำไปสู่การทะเลาะวิวาท 4 ประการ คือ
1. การบ่มเพาะความอึดอัดไม่พอใจระหว่างสามีภรรยาเป็นเวลานาน
2. กิจกรรมของครอบครัว และความสนใจของสามีภรรยาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ เวลาของสามีและ
ภรรยาจะไม่ตรงกันในการกระทำกิจกรรมของครอบครัว
3. เวลาของสามีและภรรยามุ่งไปสู่การทำงานเฉพาะกิจของตนเองขาดความเอาใจใส่ต่อกัน
4. ความไม่เสมอภาคระหว่างเพศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่สามีจะแสดงบทบาทผู้มีอำนาจเหนือต้องการให้ภรรยาสมยอมในทุกเรื่อง และทำให้ภรรยาต้องอยู่ในภาวะพึ่งพาสามี โดยเห็นว่าการหย่าร้างจะนำผลร้ายมาสู่ลูกๆ

แนวคิดความสัมพันธ์ของครอบครัวเรื่องอำนาจและการแบ่งช่วงชั้นทางอำนาจ แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของผู้ที่มีสถานภาพที่เหนือกว่าสามารถทำการควบคุมและสร้างอิทธิพลภายใต้ระบบความความสัมพันธ์ในครอบครัว เมื่อนำหลักแนวคิดระบบอาวุโสมาพิจารณาถึงความสัมพันธ์ในระหว่างบทบาทหญิงและชาย จะพบว่าสถาบันต่างๆ ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และศาสนา ได้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวว่าระบบอาวุโส ทำให้ผู้ชายมีบทบาทที่เหนือกว่าผู้หญิงระหว่างช่วงชีวิตสมรสในทุกด้าน สิ่งเหล่านี้ปรากฎให้เห็นต่อสังคมว่าผู้ชายสามารถมีอำนาจเหนือกว่าทางด้านอาชีพการงาน ด้านการเมือง และศาสนา ผู้หญิงเป็นเพศที่แสดงถึงผู้มีอำนาจที่น้อยกว่า ได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ที่น้อยกว่า มีโลกของตนเองภายในบ้านและการเลี้ยงลูก การนำผลทางลบด้านชีวิตครอบครัวมาทำการศึกษาจะทำให้สังคมมีความเข้าใจภาวะวิกฤตที่เป็นปัญหาของครอบครัวสามารถที่จะทำการป้องกันแก้ไขเพื่อให้ครอบครัวมีความสันติสุข
ผลทางลบด้านชีวิตครอบครัว คือ ความรุนแรงในครอบครัว (Violence in the Family) สามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ
1. การทำร้าย ทุบเฆี่ยนตีภรรยา (Wife Battering)
2. การกระทำทารุณต่อเด็ก (Child Abuse)

การทำร้าย ทุบเฆี่ยนตีภรรยา (Wife Battering)

การทำร้าย ทุบเฆี่ยนตีภรรยา เกิดขึ้นได้ทุกชนชั้นในสังคม (Lenore E. Walker) สาเหตุเกิดจากความผิดปกติของสมาชิกครอบครัว (Steinmetz, 1977) ทำให้เกิดข้อขัดแย้งและการพิพาทในครอบครัว ถ้าปล่อยทิ้งให้เป็นความขัดแย้งที่เรื้อรังไม่ได้ขจัดแก้ไข ผลสุดท้ายจะเกิดภาวะที่ไม่สามารถควบคุมได้ นักวิชาการหลายท่านแสดงความคิดเห็นว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการใช้อำนาจอาวุโสระหว่างเพศ เช่น Goode (1971) และ O’Brien (1971) ได้เสนอว่า สามีที่ไม่ประสบความสำเร็จทางสังคมในหน้าที่การงาน มักจะแสดงความวิตกกังวลหงุดหงิดไปสู่ภรรยา Goode (1971) ได้สรุปว่า ความรุนแรงในครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อสามีไม่สามารถมีสถานภาพทางสังคม ประสบความล้มเหลวต่อการมีอำนาจนอกบ้าน ไม่สามารถทำงานบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อนำมาสนับสนุนการมีอำนาจในบ้าน ประเด็นเหล่านี้ ต้องทำการศึกษาต่อไปอีก โดยจะต้องนำปัจจัยอื่นมาทำการศึกษา เช่น กระบวนการขัดเกลาทางสังคม ปัจจัยทางจิตวิทยา ปัจจัยความกดดันทางสังคม เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาด้านการเงิน และปัญหาด้านสุขภาพ

การกระทำทารุณต่อเด็ก (Child Abuse)

การกระทำทารุณต่อเด็ก เกิดขึ้นได้หลายสถานการณ์ตั้งแต่เรื่องความขัดสนด้อยโอกาส ขาดแคลนความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ด้านอาหาร เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย ไปจนถึงเรื่องการขาดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว การกระทำทารุณทางร่างกาย ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว นำไปเร่ขาย ทอดทิ้งให้อดอยากหิวโหย ต้องเร่ร่อนและการฆาตกรรมเด็กตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ การฆ่าทิ้งถ้าพบเป็นเพศหญิง และการทำแท้งจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ บางประเทศที่อยู่ระหว่างการทำสงครามจะให้เด็กจับอาวุธ ทำหน้าที่เป็นทหาร และเด็กต้องตกเป็นเหยื่อจากการสู้รบตั้งแต่อายุระหว่าง 7 – 8 ขวบ การกระทำทารุณต่อเด็กที่นักวิชาการหลายท่านได้สรุปสาเหตุ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สังคมเกิดภาวะไร้ระเบียบวินัย รวมทั้งการเกิดสภาพความเป็นเมือง (Urbanization) ทำให้สังคมละทิ้งคุณค่าทางวัฒนธรรม และการปฏิบัติหน้าที่ของครอบครัวล้มเหลว ทำให้เสี่ยงต่อการกระทำทารุณต่อเด็กยิ่งขึ้น

ความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัวศึกษา (Family Studies)
การทำความเข้าใจเกี่ยวกับครอบครัว หรือครอบครัวศึกษา ได้มีนักวิชาการใช้ทฤษฎีศึกษาหลายทฤษฎีโดยเฉพาะทฤษฎีโครงสร้างและหน้าที่ เช่น ศึกษาครอบครัวด้านการหย่าร้างและปัญหาต่างๆ ของครอบครัว ปัจจุบัน นักวิชาการได้ใช้ทฤษฎีกระบวนการครอบครัว (family process) เข้ามาศึกษาโดยเน้นพัฒนาการมนุษย์ในระบบนิเวศวิทยา (Bronfenbrenner, 1979) โดยเสนอว่า บุคคลและสุขภาพครอบครัวเป็นเรื่องที่สลับซับซ้อนที่ต้องทำการศึกษาในเชิงความรู้สึกนึกคิด และสภาพแวดล้อม ในที่นี้จะเสนอการศึกษาด้านสุขภาพครอบครัว และความบกพร่องต่อการปฏิบัติหน้าที่ของครองครัว หมายถึง การศึกษาครอบครัวจะทำหน้าที่อย่างไรให้ดีที่สุดตามที่ครอบครัวมุ่งหวัง และความหมายของสุขภาพครอบครัว คือ ครอบครัวประสบความสำเร็จต่อการปฏิบัติหน้าที่และบรรลุเป้าหมายตามที่มุ่งหวังไว้ ครอบครัวที่มีสุขภาพที่ดีจะต้องประกอบด้วย คุณลักษณะสำคัญ 6 ประการ แต่มิได้หมายความว่าครอบครัวสุขภาพดีจะต้องมีครบองค์ประกอบทั้ง 6 ประการ
1. ทำความตกลงแหล่งการใช้อำนาจภายในครอบครัว
2. กำหนดกติกาและทำการตัดสินใจในการใช้กติกาอย่างมั่นคง
3. แสดงพฤติกรรมเชิงแลกเปลี่ยนความเอื้ออาทรในการพิทักษ์คุ้มครองซึ่งกันและกันอย่างสม่ำเสมอ
4. ทำการเลี้ยงดูผู้เยาว์และเด็ก และรักษาสถานภาพชีวิตสมรสอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคง
5. ทำการกำหนดเป้าหมายของครอบครัวที่สมาชิกแต่ละคนมีส่วนร่วม
6. มีความยืดหยุ่นและการปรับตัวยอมรับพัฒนาการที่เกิดขึ้นอย่างปกติ และรวมถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ครอบครัวสุขภาพดีจะต้องรู้จักการสื่อสารด้วยการพูด และทำความเข้าใจกันอย่างเปิดเผย รู้จักยอมรับและเข้าใจแนวคิดของแต่ละฝ่ายด้วยการตกลง ยอมรับมากกว่าการขัดแย้ง รูปแบบลำดับขั้นตอนการดำเนินชีวิตการแต่งงาน (Stages of a Marriage) ที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรชีวิตครอบครัวที่จะทำความเข้าใจถึงการผสมผสานความเป็นปัจเจกบุคคลในครอบครัว และการรับรู้ปฏิสัมพันธ์ต่อกันในช่วงชีวิตการแต่งงาน
1

ใส่ความเห็น